วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

"รถไฟใต้ดิน" ปัจจัยที่ 5 ของชาวเกาหลีที่กรุงโซล

โดยรถไฟใต้ดินหรือ 지하철 (ชีฮาช่อล) ของกรุงโซลนั้น มีมาตั้งเกือบ 40 ปีแล้วนะคะ ! เริ่มต้นมีเพียง 9 สถานี แต่ปัจจุบันมีทั้งหมด 263 สถานี เรียกได้ว่ารถไฟใต้ดินนั้นครอบคลุมทั่วกรุงโซลเลย แถมยังยาวไปถึงต่างจังหวัดหรือเขตปริมณฑลด้วย เปิดให้บริการทุกวัน 06.00 - 24.00 น.

สาย 1 หรือ สายสีน้ำเงิน โดยต้นสายฝั่งหนึ่ง จะอยู่ที่อินชอน (เมืองที่เป็นที่ตั้งของสนามบิน นานาชาติ) ส่วนปลายสายของอีกฝั่งจะอยู่ที่ อึยจองบู หรือ เมืองที่เป็นที่ตั้งของสตูดิโอการ ถ่ายทำซีรีส์ชื่อดังเรื่องแดจังกึมค่ะ
สาย 2 หรือ สายสีเขียว เรียกได้ว่าเป็นสาย ธุรกิจของกรุงโซลเลย เพราะผ่านทั้งย่านซินชน ซึ่งเป็นย่านรวมวัยรุ่นและมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม ไปถึงย่านคังนัม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นย่านคนรวยของ เกาหลีใต้ ซึ่งสาย 2 นั้นได้ชื่อว่าเป็นสายที่มีผู้ใช้ บริการมากที่สุด เช่น ในปี 2007 มีผู้ใช้บริการ มากถึง 707,328,238 ครั้ง !!
สาย 3 หรือ สายสีส้ม ต้นสายฝั่งหนึ่งอยู่ที่เมืองอิลซาน (ร้านพิซซ่าของคุณพ่อเซียแห่งดงบังชินกิก็อยู่ที่เมืองนี้นะ ^^) จากนั้นจะวิ่งเข้ากรุงโซลผ่านสถานที่สำคัญ เช่น คยองบกกุง ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังคยองบกที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดของเกาหลี รวมถึง ย่านอับกุจง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท sm town นั่นเอง นอกจากนั้นยังมี Express Bus Terminal คล้ายๆ หมอชิตที่รวมรถบัสไปต่างจังหวัด
สาย 4 หรือ สายสีฟ้า สำหรับสายนี้ สถานที่ที่สำคัญที่สุดคงไม่พ้นมยองดง ย่านที่รวมวัยรุ่นไว้มากที่สุดของกรุงโซล หรือเรียกง่ายๆ ว่าสยามแสควร์ของเกาหลีนั่นเอง
สาย 5 หรือ สายสีม่วง ซึ่งเป็นสายที่วิ่งไปถึงสนามบินกิมโพซึ่งเป็นสนามบินภายในประเทศของเกาหลีใต้ รวมถึงยังวิ่งผ่านย่านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกย่านของกรุงโซล คือ ย่านยออีโด ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภาเกาหลีใต้ ตึก 63 หรือตึกที่สูงที่สุดของเกาหลีใต้ และ บริษัท KBS ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตซีรีส์และรายการต่างๆ มากมาย
สาย 6 หรือ สายสีน้ำตาลส้ม วิ่งผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ย่านอีแทวอน ซึ่งเป็นย่านรวมชาวต่างชาติ รวมถึงมหาวิทยาลัยเกาหลี หรือ Korea University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศเกาหลี
สาย 7 หรือ สายสีเขียวแก่ ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ แล้ว อาจจะไม่ค่อยได้ใช้บริการรถไฟใต้ดินสายนี้มากเท่าไรนัก เพราะไม่ได้วิ่งผ่านสถานที่สำคัญมากเท่าใดนัก ยกเว้นสถานี Express Bus Terminal ซึ่งจะตัดผ่านกับสาย 3 ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นค่ะ
สาย 8 หรือ สายสีชมพู สายนี้ก็เช่นเดียวกันสาย 7 ค่ะคือไม่ได้วิ่งผ่านสถานที่สำคัญมากเท่าไร และยังเป็นสายที่สั้นที่สุดในบรรดารถไฟใต้ดินทั้ง 8 สาย

แน่นอนว่าในเมื่อมีเส้นทางเยอะขนาดนี้ จะต้องมีสถานีเชื่อมต่อหรือจุดเปลี่ยนสถานีกันเยอะมากๆ ซึ่งหากถึงสถานีที่สามารถเปลี่ยนสายรถได้แล้วนั้น ก็จะมีเสียงสัญญาณโดยจะคล้ายๆ เสียงนกร้องจิ๊บๆ ต้องตั้งใจฟังกันให้ดี ส่วนการเปลี่ยนสถานีนั้น ขอบอกว่าเดินไกลมากๆ ค่ะ เพราะสถานีรถไฟใต้ดินของกรุงโซลนั้นใหญ่และกว้างมาก เพราะฉะนั้นการเดินเปลี่ยนสถานีนั้นจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที แต่ก็ไม่ต้องกลัวจะเซ็งค่ะ เพราะระหว่างเดินเปลี่ยนสถานีนั้น ก็จะมีร้านค้าต่างๆ มากมายซึ่งตั้งอยู่ในสถานีให้พวกเราได้เดินดูกันอย่างเพลินตาเพลินใจ ไม่ว่าจะเป็นของขายแบกับดินหรือร้านแบรนด์เครื่องสำอางต่างๆ ก็ยังมีอีกแน่ะ นอกจากนี้ถ้าเป็นสถานีใหญ่ๆ ก็จะมีตู้เก็บสัมภาระอัตโนมัติไว้คอยบริการด้วย
และอีกอย่างก็คือ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นรถไฟใต้ดิน แต่ในบางสถานีที่แล่นผ่าน รถไฟใต้ดินนี้ก็จะขึ้นมาวิ่งบนดิน ให้เราได้ชมวิวทัศนียภาพของกรุงโซลได้ด้วยอีกนะคะ

เรื่องราคาค่าโดยสารนั้น จะเริ่มต้นที่ 900 วอน (ตอนนี้ประมาณ 25 บาท) สำหรับ 10 กิโลเมตรแรก และ 10-40 กิโลเมตรต่อ ไปคิดเพิ่ม 100 วอนต่อ 5 กิโลเมตร เรียกได้ว่าถูกมากๆ เลยค่ะ นั่งจนรากงอกจากต้นสายสุดปลายสายใช้เวลา 2 ชั่วโมง เสีย กันไม่เกิน 40 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งพี่เป้ขอแนะนำให้ใช้ T-Money ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินสำหรับการใช้โดยสารรถไฟใต้ ดินหรือรถประจำทาง จะทำให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับสิ่งที่ต้องระวังในการใช้บริการรถไฟใต้ดินที่กรุงโซลนั้น พี่เป้คิดว่าน่าจะเป็นการงงหรือสับสนกับสถานีต่างๆ ค่ะ เพราะว่ามีตั้ง 8 สาย สายหนึ่งก็มีประมาณ 40 สถานี หากดูแผนที่แล้วรับรองต้องงงแน่ๆ เพราะมันตัดกันไปมาดูยุ่งเหยิงมาก อีกอย่างคือ ตามสถานีต่างๆ จะมีห้องน้ำไว้เผื่อยามข้าศึกมาประชิด ซึ่งบางสถานีก็ห้องน้ำสะอาด แต่บางสถานีก็ไม่ไหวเอาซะเลย กลิ่นลอยมาแต่ไกล เพราะฉะนั้นก่อนใช้บริการก็อย่าลืมทำธุระส่วนตัวออกจากที่พักให้เรียบร้อยด้วยนะคะ อ้อ ถ้ากำลังนั่งๆ อยู่ แล้วมีคนขึ้นมาขายของตะโกนโหวกเหวกก็ไม่ต้องแปลกใจนะคะ เป็นเรื่องธรรมดาของที่นั่นเค้าล่ะค่ะ ^^ เอาล่ะ ทำความรู้จักรถไฟใต้ดินของกรุงโซลกันไปพอหอมปากหอมคอแล้ว ใครมีโอกาสได้ใช้บริการก็อย่านั่งจนหลงทางล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น