วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิธีถนอมสายตา..เมื่อใช้คอมพิวเตอร์นานๆ


อาการที่นัยน์ตาถูกใช้งานอย่างหักโหม ได้แก่

การมองเห็นสี

หากลองมองไปที่อื่นหลังจากที่มองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จะรู้สึกว่าการมองเห็นสีนั้นยากขึ้น ปรากฏการณ์นี้เกิดจากปริมาณของสีเคมีพิเศษที่อยู่ในจอตาหรือจอรับภาพลดลง อย่างไรก็ตามนัยน์ตาก็จะสร้างสีให้เกิดใหม่ได้ในไม่ช้า หลังจากที่สีเคมีดังกล่าวหายไปชั่วขณะหนึ่ง

การมองเห็นภาพซ้อน

กล้ามเนื้อตาจะรวมภาพที่จุดๆ หนึ่ง แต่เหมือนกับมีบางสิ่งมาอยู่ใกล้ๆ กับจุดโฟกัสนั้น เมื่อเราพยายามมอง ก็จะทำให้เกิดเป็นภาพซ้อน ซึ่งมักพบได้บ่อยๆ การเห็นภาพซ้อนบางครั้งก็ไม่รู้สึกหรือไม่เกิดขึ้นโดยตรง แต่จะรู้สึกปวดหัวหรือเกิดอาการล้านัยน์ตา หากเห็นภาพซ้อนอยู่เรื่อยๆ ควรปรึกษาจักษุแพทย์

ปัญหาในการโฟกัส

หากกล้ามเนื้อตาต้องถูกใช้งานอย่างหนักโดยการทำงานซ้ำๆ เช่น เพื่อเลื่อนโฟกัสมองตามตัวอักษรที่พิมพ์ หรือกวาดสายตาตามตัวอักษรที่อ่านบนจอภาพ หรือการจ้องมองอยู่ที่โฟกัสเดิมเป็นเวลานานๆ ก็เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อตาเกิดอาการล้าหรือตึงเครียด และอาจทำให้สายตาหรือกล้ามเนื้อตาเสื่อมลง ทำให้ความสามารถในการกำหนดโฟกัสของสายตาแย่ไปด้วย

อาการปวดหัว

เมื่อต้องใช้สายตาอย่างหนักในการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์นานๆ อาจจะเกิดอาการปวดหัว พบมากที่บริเวณขมับ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอและศีรษะเกิดความตึงเครียด อาการปวดหัวอาจไม่ได้เกิดจากความเมื่อยล้าของนัยน์ตาโดยตรง แต่เป็นผลข้างเคียงจากความพยายามจ้องมองในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม คนที่สายตาสั้นจะปวดหัวและมีอาการเมื่อยล้านัยน์ตาได้ง่าย



วิธีการถนอมสายตาเมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์

1.ควรเลือกจอภาพที่มีการกระจายรังสีต่ำเพื่อถนอมสายตา วิธีทดสอบง่ายๆ ทำได้โดยลองปิดสวิตช์จอภาพ แล้วเอามือหรือแขนไปจ่อไว้ใกล้ๆ จอภาพให้มากที่สุด จอภาพที่มีการกระจายรังสีต่ำจะแทบไม่รู้สึกถึงไฟฟ้าสถิตตามขนที่ผิว

2.ปรับแสงและความคมชัดของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้รู้สึกสบายตา รวมทั้งความสว่างภายในที่ทำงาน ลดแสงสะท้อนรบกวน เช่น ปิดไฟดวงที่สะท้อนจ้าลงบนจอคอมพิวเตอร์ หากทำงานกับคอมพิวเตอร์ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงจ้าและจอภาพมีความสว่างมาก ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อดวงตาได้ง่ายและรวดเร็ว จะรู้สึกว่ามีอาการปวดร้าวดวงตาเร็วและแสบตาอย่างรุนแรง

3.ตำแหน่งของจอภาพควรห่างจากดวงตาประมาณ 18-24 นิ้ว หรือประมาณช่วงแขนเอื้อม และปรับให้ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 15-20 องศา หากระยะห่างระหว่างตากับจอภาพไม่สัมพันธ์กัน จะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าและปวดตาได้ง่าย

4.การใช้แผ่นกรองรังสีติดไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แม้ว่าจะช่วยลดการกระจายรังสีจากจอคอมพิวเตอร์ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วแต่คุณภาพของสินค้า แต่อย่างน้อยๆ ก็ช่วยลดแสงจ้าจากจอคอมพิวเตอร์ลงได้

5.ทำความสะอาดหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เสมอ เพราะฝุ่นจะทำให้เกิดการสะท้อนมากขึ้น

6.การหยุดพักหรือเปลี่ยนตารางเวลาการทำงานใหม่ จะช่วยให้สายตาคลายความเมื่อยล้าจากการจ้องเพ่งคอมพิวเตอร์ได้ The National Institute of Occupational Safety and Health (NIOSH) แนะนำให้หยุดพักสายตาครั้งละ 15 นาทีทุกๆ 2 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็แนะนำว่าควรจะหยุดพักบ่อยๆ โดยแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เช่น พักสายตาทุก 30 นาที โดยหลับตาหรือมองไปไกลๆ สัก 5-10 นาที แล้วจึงเริ่มทำงานต่อไป ก็จะช่วยถนอมสายตาได้

7.อาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ วางไว้บนเปลือกตา และหลับตาสัก 2-3 นาที หรือจะให้ดีกว่านั้นก็คือ ปิดไฟ นอนพักสักครู่ (ถ้าไม่มีปัญหากับหัวหน้างาน)

8.สำหรับผู้ที่ใส่คอนแท็กเลนส์ อาจจะเกิดอาการตาแห้งเพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยง เพราะห้องที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ ก็มักจะมีเครื่องปรับอากาศอยู่ด้วย เมื่อบวกกับความร้อนจากเครื่องคอมพิวเตอร์ จะทำให้อากาศแห้ง การหยอดน้ำตาเทียมจะช่วยได้

9.ควรกะพริบตาให้บ่อยครั้งกว่าปกติ เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงดวงตาอยู่เสมอ ภายใน 10 วินาที ลองพยายามกะพริบตาสัก 1-2 ครั้ง จะช่วยลดความอ่อนล้าของสายตาได้มาก

10.ผู้ที่ใส่คอนแท็กเลนส์ และมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ ควรตรวจเช็กสุขภาพตาบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น