ส่วนประกอบหลักในเครื่องสำอาง
ในเครื่องสำอางแต่ละชนิดมักจะมีการหลักเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตจะใช้สารใดในกลุ่มนั้นๆ ซึ่งอาจจะต้องคำนึงถึงความเข้ากันได้ของส่วนผสมอื่น คุณภาพของสารจัดอยู่ในเกรดไหน คุณสมบัติตรงตามความต้องการหรือไม่ สีและกลิ่นเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดก็คือราคา เมื่อเลือกได้แล้วจึงผสมสารหลักต่างๆ ลงไปตามขั้นตอนของการทำเครื่องสำอางชนิดนั้นๆ สารหลักเหล่านั้นได้แก่
1. น้ำ (Water)
น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง มักจะใช้น้ำกลั่นเพื่อความบริสุทธิ์ ไม่มีสารเจือปนและปราศจากเชื้อโรค ในเครื่องสำอางแต่ละชนิด จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ เช่น ครีมมีส่วนที่เป็นน้ำและน้ำมันอยู่ด้วยกัน โลชั่นคือครีมที่มีน้ำมากกว่า ถ้าเป็นโทนเนอร์ก็จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากที่สุด
2. น้ำมัน (Oil)
ครีมทั่วไปจะมีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะมีสัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไป ผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่า Oil-free นั้นจะมีส่วนที่เป็นน้ำมันน้อยแต่มีน้ำมาก ไขมันหรือน้ำมันประกอบไปด้วยกรดไขมันชนิดใดชนิดหนึ่ง และกลีเซอรีน (Glycerine) เป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างกรดไขมันทั้ง 2 ชนิด คือ กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acid) และกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid)
น้ำมันหรือไขมันที่เป็นส่วนประกอบในครีมบำรุงผิวนั้น ก็เพื่อป้องกันน้ำระเหยออกไปจากผิวหนัง การเลือกซื้อครีมที่เหมาะกับผิวก็ขึ้นอยู่กับชนิดของผิวแต่ละคน โลชั่นจะเหมาะกับคนผิวมันเนื่องจากมีส่วนที่เป็นน้ำมันน้อย ส่วนคนที่มีผิวแห้ง หรือตอนหน้าหนาวผิวแห้งก็อาจจะลองเปลี่ยนมาใช้ครีมแทน น้ำมันหรือไขมันไม่สามารถดูดซึมลึกลงไปในผิวหนังได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันที่มาจากพืชหรือสัตว์
3. สารที่ทำให้ข้น (Consistance)
น้ำกับน้ำมันเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีสารที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างน้ำกับน้ำมันให้อยู่ด้วยกันได้ สารนั้นเรียกว่า Emulsifier ซึ่งเป็นตัวทำให้ข้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีสารดังนี้ Lecitin, Lsopropyl Lanolate, Lsopropyl Myrsitate, Cococa Butter ฯลฯ
4. สารที่ทำให้ลื่น (Emollient)
เป็นสารที่ทำให้ส่วนผสมอื่นๆ ให้เกลี่ยหรือซึมได้ทั่วผิวหนัง สารที่ทำให้ลื่นมีหลายชนิด เช่น Propylene Glycol, Butylene Glycol, Polysrbates Glycol เป็นต้น
5. สารดูดชับน้ำ (Huemactant)
เป็นสารที่ช่วยให้ผิวรักษาน้ำไว้ได้ ทำให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งกร้าน สารเหล่านี้มีหลายชนิด เช่น Hyaluronic Acid, NaPCA, Collagen, Elastin, Prtein, Amino Amino Acid ฯลฯ สารเหล่านี้เป็น Moisturizer ที่ดีสำหรับผิว แต่ไม่สามารถซึมเข้าไปในผิวได้
6. สารกันเสีย (Preservative) และสาร Antioxidants
ในการผลิตเครื่องสำอางต่างๆ ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากในทุกขั้นตอนการผลิต ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาดปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียหรือบูดได้ง่าย ดังนั้นในเครื่องสำอางส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องใส่สารกันเสียเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์นั้นให้นานขึ้น สารกันเสียมีจุดประสงค์หลัก 2 ประการ คือ
1. เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ
2. เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น เรียกสารชนิดนี้ว่า Antioxidants
7. น้ำหอม (Perfume)
ผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิดมีการใส่น้ำหอมเพื่อให้มีกลิ่นหอมน่าใช้เป็นเอกลักษณ์ ความจริงแล้วน้ำหอมไม่ได้มีส่วนในการออกฤทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้กลิ่นหอมเท่านั้น ดังนั้นหากคุณมีผิวที่แพ้ง่ายก็ควรหลีกเลี่ยงน้ำหอมดีกว่า น้ำหอมแบ่งออกได้ 3 ชนิด คือ
1. Natural Perfume เป็นน้ำหอมที่ได้จากธรรมชาติ
2. Natural ldentic Perfume หมายถึงน้ำหอมที่มีส่วนประกอบและกลิ่นเหมือนกับน้ำหอมที่ได้จากธรรมชาติ
3. Perfume Synthetic คือน้ำหอมกลิ่นสังเคราะห์ที่ไม่เหมือนกลิ่นน้ำหอมที่ได้จากธรรมชาติ
8. สี (Color)
เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตเครื่องสำอาง สีที่ใช้ในเครื่องสำอางบางชนิดก็เพื่อให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ในเครื่องสำอางบางชนิดสีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เช่น แป้งผัดหน้าที่มีสีเนื้อโทนต่างๆ ลิปสติก อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว หรือน้ำยาโกรกสีผม เป็นต้น
9. อื่นๆ
อาทิเช่น สารสกัดจากพืชหรือสมุนไพร (Herb Extract), วิตามิน (Vitamin), สารซักฟอก (Detergent), สารสมานผิว (Astringent)