ผลไม้มีชื่อแห่งนิวซีแลนด์ ตามรอยการพัฒนาคุณภาพ 'กีวี' จนเป็นที่ต้องการของตลาดโลก รูปทรง กลิ่น และรสชาติ ทำให้ผลไม้แต่ละชนิด มีเสน่ห์น่าชิมต่างกันไป กีวี (Kiwi) ก็เช่นกัน หลายคนรู้สึกสดชื่นขึ้นเมื่อได้ลิ้มรสชาติหวานอมเปรี้ยวของเนื้อกีวีที่ฉ่ำสด บางคนชอบเนื้อกีวีที่มีสีเขียวเข้มสวยสะดุดตาราวเนื้อหยก กีวีมีปลูกด้วยกันในหลายประเทศ แต่ที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักผลไม้ชนิดนี้ในนามกีวี คงต้องย้อนกลับไปที่ประเทศนิวซีแลนด์
ความเป็นมาของกีวี
เรื่องราวของกีวีเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวหนึ่งร้อยปีกว่ามาแล้วเมื่อมิสชันนารีชาวนิวซีแลนด์คณะหนึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีน ในการเดินทางกลับมาครั้งนั้นพวกเขานำผลไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ไชนิส กูสเบอร์รี (Chinese gooseberries) กลับมาด้วย และปลูกลงบนผืนดินของนิวซีแลนด์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2407
หลังจากปลูกลงบนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ของนิวซีแลนด์ ด้วยดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกพืช ผลไม้ชนิดนี้ก็มีรสชาติดีขึ้น ชาวนิวซีแลนด์กิน 'ไชนิส กูสเบอร์รี' กันมาเรื่อยจนถึงปี พ.ศ.2502 พวกเขาจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อใหม่ให้ผลไม้ชนิดนี้ว่า กีวี่ฟรุต (Kiwifruit) ตามชื่อนกกีวีที่เป็นนกสัญลักษณ์ของประเทศ และเพื่อบ่งบอกว่านี่คือผลไม้ที่ส่งออกไปจากนิวซีแลนด์ เพราะในปี พ.ศ.2495 เริ่มมีผู้ปลูกกีวีในนิวซีแลนด์ส่งกีวีไปจำหน่ายยังสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกแต่ยังส่งไปในนาม 'ไชนีส กูสเบอร์รี'
ปัจจุบัน นิวซีแลนด์พัฒนาคุณภาพกีวีจนเป็นที่ต้องการของตลาดโลก สามารถส่งออกกีวีไปยังผู้บริโภคใน 70 ประเทศ เฉพาะยุโรปทวีปเดียวก็ทำสถิติขายได้ปีละ 1.5 ล้านล้านผล รวมทั้งส่งกีวีมาจำหน่ายยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย
ปี พ.ศ.2551 นิวซีแลนด์มีส่วนแบ่งทางการตลาดของการบริโภคกีวีในประเทศญี่ปุ่น 16%, เกาหลีใต้ 8%, จีนและฮ่องกง 6%, ไต้หวัน 5% และสหรัฐอเมริกา 4%
แต่กว่าที่นิวซีแลนด์จะประสบความสำเร็จในการส่งออก 'กีวี' ไปทำตลาดในต่างประเทศได้มากขนาดนี้ เกษตรกรผู้ปลูกกีวีในนิวซีแลนด์ก็เคยประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเกษตรกรไทย
ผลไม้แห่งสารอาหารเพื่อสุขภาพ
นอกจากกระบวนการปลูกที่ปลอดสารพิษและไร้สารเคมี กีวีโดยตัวเองก็เป็นผลไม้ที่อุดมด้วยคุณค่าสารอาหารมากมายที่มีประโยชน์สำหรับคนทุกเพศทุกวัย มีข้อมูลและรายงานการวิจัยมากมายที่สนับสนุนคุณค่าของกีวีและการบริโภคกีวี ลิลลี่ ดรัมมอนด์ Food Science Advisor ที่ พลานท์ แอนด์ ฟู้ด รีเสิร์จ บรรยายว่า ในกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย (ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราบริโภคอาหาร) จะเกิดอนุมูลอิสระที่เรียกว่า 'ออกซิแดนท์' ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย (ทำลาย DNA) เมื่อเซลล์เสื่อมก็ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานอื่นๆ ของร่างกายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไม่พึงประสงค์ต่างๆ ขั้นต้นก็ผิวพรรณร่วงโรยไม่สดใส ร่างกายไม่กระปรี้กระเปร่า เกิดการอักเสบต่างๆ ไปจนถึงโรคหนักๆ อย่าง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และมะเร็ง แต่กีวีได้ผ่านการวิจัยแล้วว่าเป็นผลไม้ที่มี วิตามินซี และ วิตามินอี ในสัดส่วนสูง ซึ่งวิตามินทั้งสองชนิดนี้เป็นสาร แอนตี้ออกซิแดนท์ (ตัวต้านออกซิแดนท์) ที่ทรงประสิทธิภาพมาก
# กีวี 100 กรัม ให้วิตามินซีสูงถึง 167% ของ RDA (Recommended Daily Allowance) ให้วิตามินซีมากกว่าการบริโภคแอปเปิล ส้ม กล้วย แครนเบอร์รี องุ่น ลูกแพร์ ทับทิม ในปริมาณที่เท่ากัน
# วิตามินอีในกีวีเป็นวิตามินอีที่อยู่ในแหล่งอาหารที่ปราศจากไขมัน จึงช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ในตัว ซึ่งหมายถึงการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจด้วย
นอกจากวิตามินสองชนิดนี้ กีวียังเป็นแหล่งสารอาหารอีกมากมาย เช่น
# โปตัสเซียม (331 มิลลิกรัม/กีวี 100 กรัม) ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหัวใจวาย โปตัสเซียมช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูงได้ ผู้มีอายุต้องการโปตัสเซียมช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเส้นใยประสาท กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีโปตัสเซียมสูง แต่กล้วยหอม 100 กรัม ให้พลังงานสูงกว่ากีวีถึง 2 เท่า สำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำคงเผาผลาญพลังงานไปได้ แต่สำหรับคนที่ขาดการออกกำลังกาย พลังงานส่วนเกินที่ได้รับมีผลต่อน้ำหนักตัวที่จะเพิ่มขึ้น
# ไฟเบอร์ (3.4 กรัม/กีวี 100 กรัม) ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างสุขภาพดีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 38 ราย กลุ่มหนึ่งรับประทานอาหารตามปกติ อีกกลุ่มรับประทานอาหารตามปกติเช่นกันและกินกีวีด้วยอัตรากีวี 1 ผล/น้ำหนักตัว 30 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่กินกีวีด้วยนั้นขับถ่ายสะดวกและสม่ำเสมอกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารตามปกติอย่างเดียว ผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่ให้เส้นใยอาหาร (Fibre หน่วยกรัม/100 กรัม) เช่น ลูกแพร์ 2.2, แอปเปิล 1.8, ส้ม 1.7, กีวีสีทอง 1.4, กล้วยหอม 1.1, กรัม, องุ่น 0.7
# โฟลเลต คือแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยในการแบ่งตัวของเซลล์ใหม่ (หมายถึงโครงสร้างร่างกายทั้งหมด) เช่น การสร้างอวัยวะทารกในครรภ์ การสร้างเม็ดเลือด การสร้างสารพันธุกรรมในร่างกาย คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ขาดโฟลเลตมีความเสี่ยงที่ทารกจะมีความพิการทางสมองและระบบประสาท กีวี 1 ผล ขนาด 76 กรัม มีโฟลเลต 19 ไมโครกรัม หรือ 5%ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน (RDA)
# แมกนีเซียม (30 มิลลิกรัม/กีวี 100 กรัม) ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมไปใช้สร้างเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟันได้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของแมกนีเซียม กระดูกที่แข็งแรงช่วยให้ร่างกายทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้คล่องตัวขึ้น และมีความสุขกับชีวิตได้เต็มที่ แมกนีเซียมที่มีในผลไม้ชนิดอื่น (หน่วยมิลลิกรัม/100 กรัม) เช่น กล้วยหอม 34, กีวีสีทอง 14.5, ส้ม 10, องุ่นและลูกแพร์ 7, ส้ม 5
# ซิงก์ (zinc) แร่ธาตุชนิดนี้มีความสำคัญสำหรับเด็กหนุ่มและผู้ชายทุกคน เพราะเป็นแร่ธาตุที่ใช้สร้างฮอร์โมนเพศชาย (เทสโตสเตอโรน)
ผลการศึกษาในนิวซีแลนด์และยุโรปพบด้วยว่า การรับประทานกีวี 2 ผล/วัน ช่วยลดภาวะที่เซลล์จะถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ และยังช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอที่ถูกทำลายจากกระบวนเผาผลาญอาหารของร่างกายได้ด้วย รวมทั้งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภูมิคุ้มกันของร่างกาย
นักวิจัยในสหรัฐอเมริกายังพบด้วยว่า ผู้ที่กินกีวีพร้อมหรือกินหลังอาหาร - โดยเฉพาะหากอาหารมื้อนั้นเป็นอาหารที่มีไขมันมาก - แร่ธาตุในกีวีจะช่วยลดสภาวะที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนสารต้านอนุมูลอิสระมีไม่เพียงพอได้ด้วย
แต่ราคาขายกีวี 1 ผลในประเทศไทยอยู่ในระหว่าง 18-25 บาท ผู้บริโภคไทยจะสู้ราคาไหวหรือ และเมืองไทยก็มีผลไม้ชนิดอื่นให้บริโภคตลอดปีในราคาที่แสนจะจูงใจ มร.แดเนียล แมทธีสัน ตอบข้อสงสัยนี้ว่า เป็นความจริงที่ประเทศไทยมีผลไม้ที่มีประโยชน์และมีรสชาติดีมากมาย ราคาจำหน่ายเมื่อคิดต่อกิโลกรัมแล้วมีราคาถูกกว่าการซื้อกีวี เขาเองก็ชอบผลไม้ไทยมากโดยเฉพาะทุเรียน ถึงแม้การกินทุเรียนจะทำให้เขาอึดอัดท้อง แต่เขาก็ยังคงชอบกินทุกเรียนทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะค้นพบว่าการกินกีวีผลหรือสองผลหลังทุเรียน ช่วยลดอาการอึดอัดให้คลายลงไปได้
สิ่งที่เขาอยากแสดงความคิดเห็นก็คือ ผลไม้แต่ละชนิดมีรสอร่อยต่างกันไป ใครชอบรับประทานผลไม้ชนิดใดก็รับประทานเพื่อรสชาติที่ต้องการได้เต็มที่ แต่ถ้าคิดจะบริโภคผลไม้เพื่อสุขภาพ ลองคิดถึงกีวี คิดเสียว่าเป็นการกินผลไม้เพื่อสุขภาพ กินผลไม้อื่นที่ชอบและกินกีวีด้วยเพื่อสุขภาพ อย่างน้อยวันละ 1 ลูกก็ได้